วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2553

กองมรดก คืออะไร

กองมรดกคือทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้าน เสื้อผ้า หรือแม้แต่ของใช้ส่วนตัว แม้แต่ทองที่ครอบฟันไว้ ก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของผู้ตาย ซึ่งเมื่อบุคคลใดตายแล้วย่อมอยู่ในความหมายของกองมรดกด้วย
นอกจากทรัพย์สินแล้ว ยังรวมถึงบรรดาสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในวันที่ตายหรือที่จะมีขึ้นในวันข้างหน้าภายหลังจากที่ตายแล้วด้วย เช่นทำสัญญาเช่าบ้านมีกำหนดสิบปี เช่าไปได้สองปีแล้วเกิดตายลง สิทธิที่จะเช่าบ้านนั้นต่อไปอีก ๘ ปี ก็จะตกเป็นกองมรดก ในขณะเดียวกันหน้าที่หรือความรับผิดในการชำระค่าเช่าที่ค้างอยู่ก็ดี หรือที่จะชำระต่อไปในวันหน้าก็ดี ล้วนตกเป็นกองมรดกด้วยกันทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตามบรรดาสิทธิ หน้าที่ หรือความรับผิด ที่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย ย่อมตายตามตัวผู้ตายไปด้วย ไม่ตกทอดไปถึงทายาท เช่นทำสัญญาว่าจะไปเล่นลิเกให้ชมในอีกสิบวันข้างหน้า หรือไปตกลงรับจ้างวาดรูปไว้ แล้วเกิดตายเสียก่อนเช่นนี้ จะเห็นได้ว่าโดยสภาพแล้วเป็นเรื่องเฉพาะตัว จะมากะเกณฑ์ให้ทายาทต้องไปเล่นลิเกแทนผู้ตายย่อมไม่ได้ แต่ถ้าบังเอิญผู้ตายไปรับเงินค่าตัวเขามาก่อนแล้ว ก็กลายเป็นหนี้ที่ทายาทจะต้องชดใช้คืนให้แก่ผู้จ้าง
เมื่อกฎหมายกำหนดว่ากองมรดกนั้นประกอบไปด้วยทั้งทรัพย์สินและหน้าที่และความรับผิดด้วยเช่นนี้ มิกลายเป็นว่าถ้ากองมรดกมีหนี้มากกว่าทรัพย์สิน ทายาทที่จะรับมรดกไปมิต้องกลายเป็นลูกหนี้ไปด้วยหรือ เรื่องนี้กฎหมายมิได้ใจไม้ไส้ระกำถึงขนาดนั้น เพราะได้กำหนดไว้แล้วว่าไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร ทายาทก็ไม่จำต้องรับผิดเกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน เรียกว่าอย่างแย่ที่สุดก็เพียงเสมอตัว คือไม่ได้อะไรเลย
ที่ว่าทรัพย์สินของผู้ตายนั้น ต้องเข้าใจว่าหมายถึงทรัพย์สินที่เป็นของผู้ตายจริง ๆ ไม่ใช่ทรัพย์สินทั้งหมดที่สามีภริยามีอยู่ร่วมกัน เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์สินที่มีอยู่ระหว่างสามีภริยาจะต้องแยกออกจากกันเสียก่อน ส่วนของใครก็เป็นของของคนนั้น จะทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ได้ แต่จะต้องยกเฉพาะส่วนที่เป็นของตนเท่านั้น ถ้าไม่มีพินัยกรรม และทรัพย์สินจะตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ทรัพย์สินที่จะตกไปย่อมจำกัดอยู่แต่เฉพาะส่วนที่เป็นของผู้ตาย ไม่รวมถึงส่วนที่เป็นของคู่สมรสด้วย
เมื่อคู่สมรสคนหนึ่งตายไป การสมรสย่อมสิ้นสุดลง ทรัพย์สินที่ทั้งสองมีอยู่ด้วยกันย่อมแยกออกจากกันโดยผลของกฎหมาย แม้ว่าในความเป็นจริงทรัพย์สินทั้งหมดจะยังอยู่รวม ๆ กัน บางชิ้นก็เป็นชื่อของคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทรัพย์สินนั้นจะเป็นของคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว

ผลของการหมั้น

ผลของการหมั้น
การหมั้นที่สมบูรณ์ย่อมนำไปสู่การสมรส แต่ในกรณีที่การสมรสไม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรจะบังคับให้มีการสมรสไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้เป็นสิ่งที่การหมั้นหรือสัญญาหมั้นแต่ต่างจากสัญญาอื่นๆซึ่งสามารถบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ แม้ว่าจะไม่สามารถบังคับให้สมรสไม่ได้ แต่ยังมีผลต่อของหมั้นซึ่งฝ่ายชายได้ให้แก่หญิงคู่หมั้นด้วยว่าหญิงนั้นจะต้องคืนของหมั้นให้แก่ชายหรือไม่ ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้
ในกรณีที่การสมรสไม่อาจเกิดขึ้นได้อันเนื่องมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้หญิงคู่หมั้นต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชาย
1. หญิงคู่หมั้นไม่ย่อมสมรสโดยไม่มีเหตุอันสมควร(เท่ากับผิดสัญญาหมั้น)
2. ชายคู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้น เพราะมีเหตุสำคัญอันเกิดจากหญิ

แต่ในกรณีดังต่อไปนี้หญิงคู่หมั้นไม่ต้องคืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายชาย(เพราะไม่ได้เกิดจากความผิดของหญิง)
1. ชายคู่หมั้นผิดสัญญาหมั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร
2. ชายหรือหญิงคู่หมั้นตายก่อนสมรส
3. หญิงคู่หมั้นบอกเลิกการหมั้นกรณีมีเหตุสำคัญเกิดจากชายคู่หมั้น
4. ต่างฝ่ายต่างละเลยไม่นำพาต่อการจดทะเบียน จะถือว่าหญิงคู่หมั้นผิดสัญญาไม่ได้

ภรรยาน้อยมีสิทธิรับมรดกโดยเสน่หาได้มากเท่าที่จะให้ได้

สมัยนี้มีผู้หญิงเก่งออกทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น จึงมีโอกาสในการพบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตา มีสิทธิที่จะเลือกคู่ครองมากขึ้น บางครั้งในการเลือกคู่ครองอาจไม่ประสบกับความสำเร็จเพราะมารู้ทีหลังว่าสามีได้มีภรรยาจดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายอยู่ก่อนแล้ว หรืออาจเลือกคู่ครองด้วยความรักเป็นปัจจัยสำคัญ ถึงแม้จะต้องเป็นภรรยาน้อยของเขาก็ยินยอม
ปัจจุบันกฎหมายรับรองภรรยาเพียงคนเดียวที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าเกิดหนึ่งสามีถึงแก่ความตาย ภรรยาหลวงมีสิทธิที่จะตามทวงทรัพย์สินของสามีกลับคืนมาเป็นกองมรดก หรือทวงกลับมาแบ่งเป็นสินสมรสได้ ดังนั้นท่านที่เป็นภรรยาน้อยทั้งหลาย หรือที่ไม่แน่ใจว่าจดทะเบียนสมรสซ้อนหรือไม่ ขอให้คุณสามีของท่านโอนกรรมสิทธ์ทรัพย์สินให้เป็นของตัวภรรยาน้อยเองทุกครั้งที่สามีซื้อทรัพย์สินให้ เพื่อป้องกันการถูกติดตามทวงคืนจากภรรยาหลวง
กรณีเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ คอมพิวเตอร์ ทีวี ตู้เย็น พัดลม ถึงแม้ว่าภรรยาหลวง พิสูจน์ได้ว่า สามีตนเป็นคนซื้อให้ภรรยาน้อยก็ตาม ภรรยาหลวง ก็ไม่มีสิทธิมายกเอาคืนไปเฉยๆได้ถ้าไม่ได้รับการยินยอมจากภรรยาน้อย ทางออกที่ดีคือบอกให้คุณภรรยาหลวงไปฟ้องร้องเอาแล้วกัน ถ้าอยากได้เครื่องใช้ไฟฟ้าคืน สำหรับผู้เป็นภรรยาน้อยสมัยใหม่นี้ไม่มีกฎหมายรับรองฐานะท่านไว้ ดังนั้นควรหาวิธีการให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยการให้ด้วยเสน่หา ไว้ให้มากที่สุด ภรรยาหลวงจะตามมาเอาคืนไม่ได้ (เพราะตอนได้มาไม่มีสัญญาข้อผูกมัดและท่านก็มิได้เนรคุณ ท่านสามีแต่ประการใด)

วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2553

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

จ้างคนทำความสะอาดบ้านเป็นการจ้างแรงงานหรือจ้างทำของ?

สวัสดีปีใหม่ 2553 กับเรื่องใหม่ๆ มาให้ เพื่อนๆ ช่วยเหลือด้วยการแสดงความคิดเห็น

เรื่องมีอยู่ว่า ---->

เพื่อนบ้าน(ซึ่งเป็นคนรับทำความสะอาดบ้านและได้ค่าจ้างเป็นรายเดือนอยู่แล้ว) เดือดร้อนเงิน มาขอความช่วยเหลือ โดยการขอยืมเงิน ครั้งละ หนึ่งหมื่นบาท จำนวน 3 ครั้ง รวมแล้วเป็นเงินจำนวนสามหมื่นบาทถ้วน (ไม่มีสัญญาการยืมเงิน) แต่เจ้าของเงินจดบันทึกไว้ในสมุด บันทึกค่าใช้จ่ายประจำวัน ว่าให้เพื่อนบ้านยืมเงินไปจำนวนเท่าไร เมื่อทวงถาม ขอคืนเงินเพื่อนบ้านไม่มีเงินจะจ่ายเงินคืน เจ้าของเงินจึงเสนอให้เพื่อนบ้าน ทำความสะอาดบ้านให้ เป็นเวลา 15 เดือน โดย จะ หักจากจำนวนเงินที่ยืมไปเดือนละ สองพันบาท แต่ไม่ได้ทำการบันทึกกับเพื่อนบ้านเพราะเกรงใจไม่กล้าให้ความกระทบกระเทือนจิตใจของเพื่อนบ้านเพราะได้ฝากกุญแจบ้านไว้กับเพื่อนบ้าน 1 ชุด ตลอดเวลา และกลัว ว่าจะถูกเอาเกลือหรือผงซักฟอกผสมกับน้ำดื่มให้กิน
ถ้าเกิดเพื่อนบ้านทำความสะอาดบ้านได้สัก 2-3 เดือนแล้วเลิกทำความสะอาดบ้านเพราะไม่ได้เงินค่าจ้างเหมือนแต่ก่อนนี้ จะสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่เหลือได้หรืไม่ หรือฟ้องร้องให้ทำความสะอาดจนครบกำหนด 15 เดือนได้หรือไม่ (ถ้าการทำความสะอาดบ้านถือเป็นการจ้างทำของจะสามารถฟ้องร้องได้ และต้องทำให้บ้านสะอาด แต่ในความเป็นจริงเพื่อนบ้านคนนี้ทำความสะอาดบ้านได้สะอาดระดับหนึ่ง แสดงว่าน่าจะเป็นการจ้างแรงงาน เพราะมิได้มุ่งหวังผลสำเร็จของงาน) แล้วเพื่อนๆ ล่ะ คิดว่าน่าจะเป็นอย่างไร ฟ้องร้องได้ไหม?

สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของ มีลักษณะที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันบ้าง บางประการกล่าวคือ สัญญาจ้างแรงงานเป็นการจ้างให้บุคคลอื่นทำงานให้ แต่มิได้มุ่งถึง ผลสำเร็จของงานเป็นหลักเหมือนดังเช่นสัญญาจ้างทำของที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นหลัก

จ้างแรงงาน
สัญญาจ้างแรงงาน คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งที่เรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า นายจ้าง และ นายจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน
(1) สัญญาจ้างแรงงานเป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เป็นนิติกรรมสองฝ่ายระหว่างคู่สัญญาฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างที่มีการ บัญญัติไว้เป็นเอกเทศในลักษณะจ้างแรงงาน-จ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

(2) สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ก่อหนี้ให้แก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายโดยฝ่ายลูกจ้างมีหนี้ที่จะต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างมีหนี้ที่จะต้องจ่ายสินจ้าง ให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน
(3) สัญญาจ้างแรงงานไม่มีแบบหรือหลักฐานเป็นหนังสือ กล่าวคือ กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำตามแบบหรือทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นเพียงแต่ เจตนาของทั้งสองฝ่ายตรงกัน ก็ถือว่าสัญญาจ้างแรงงานเกิดขึ้นแล้ว

(4) สัญญาจ้างแรงงานมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะโอนสิทธิ และหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานให้ผู้อื่นไม่ได้ นอกจากอีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอม ในกรณีเมื่อลูกจ้างตายลง สัญญาจ้างแรงงานย่อมระงับทายาทจะสวมสิทธิ และหน้าที่ตามสัญญาไม่ได้ แต่สำหรับกรณีนายจ้างนั้น หากสัญญาจ้างแรงงานมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคล ผู้เป็นนายจ้าง สัญญาจ้างย่อมระงับไปเช่นกัน

ข้อสังเกต สัญญาจ้างแรงงานอาจเป็นความตกลงในการทำงานที่ต้องใช้สติปัญญา นอกจากแรงงานก็ได้ สินจ้างในสัญญาจ้างแรงงานอาจเป็นทรัพย์สินอื่นใด โดยไม่จำกัดเพียงแค่ ในรูปเงินตราเท่านั้น และ “ลูกจ้าง” ในที่นี้ไม่ได้หมายความรวมถึง ข้าราชการ และ ลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ

จ้างทำของ
ความหมายของสัญญาจ้างทำของ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จของงานนั้น

ลักษณะของสัญญาจ้างทำของ
1. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาต่างตอบแทน ผู้รับจ้างจะต้องทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างต้อง ให้สินจ้างเพื่อผลงานนั้น ทั้งนี้สินจ้างอาจเป็นเงินตราหรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ตามแต่ จะตกลงกัน
2. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานที่ทำเป็นสำคัญ
3. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตกลงกัน แม้ด้วยวาจาก็สามารถ ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด

วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552